วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

พระไตรปิฎกและพุทธศาสนสุภาษิต

พระไตรปิฎกและพุทธศาสนสุภาษิต

พระไตรปิฎก : โครงสร้าง ชื่อคัมภีร์และสาระสังเขปของพระสุตตันตปิฎก
พระไตรปิฎก : โครงสร้าง ชื่อคัมภีร์และสาระสังเขปของพระสุตตันตปิฎก 
ชื่อคัมภีร์และสาระสังเขปของพระสุตตันปิฎก

          พระสูตร หรือที่เรียกในทางวิชาการว่า พระสุตตันปิฎก เป็น 1 ใน 3 ปิฎก มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากพระวินัยปิฎกและ
พระอภิธรรมปิฎก คือ เป็นการแสดงพระธรรมเทศนาที่มี บุคคล เหตุการณ์และสถานที่เข้ามาประกอบที่เรียกว่า บุคลาธิษฐาน โดยที่พระพุทธเจ้าทรงปรารภบุคคลเป็นต้น แล้วทรงถือโอกาสแสดงธรรมเทศนา ที่มีลักษณะเป็น ธรรมาธิษฐานบ้าง แต่ก็มีเป็นส่วนน้อย
พระธรรมเทศนาในพระสูตรมีเป็นจำนวนมาก หลายหมวด หลายประเภท

         ในพระสูตรนี้ มิใช่ว่าจะมีแต่พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้นยังมีธรรมภาษิตของเทวดาผู้มาเฝ้าและสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าก็มีมีธรรมภาษิตของพระอรหันตสาวกและของพระอรหันตสาวิการวมอยู่ด้วย ฉะนั้น พระสูตรจึงประกอบด้วยอรรถรสและธรรมรสหลากหลาย ซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาตกทอดมาแต่บรรพบุรุษผู้ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าและยึดถือเป็นหลักปฎิบัติในการดำรงชีวิตย่อมก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ตนและแก่สังคมอย่างแท้จริง

พระสุตตันปิฎก แบ่งออกเป็น 5 นิกาย เ
รียกย่อว่า ที มะ สัง อัง ขุ ได้แก่
1. ทีนิยกาย ว่าด้วยสูตรหรือพระธรรมเทศนาขนาดยาว จำนวน 34 สูตร
2. มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยสูตรหรือพระธรรมเทศนาขนาดปานกลาง จำนวน 152 สูตร
3. สังยุตตนิกาย ว่าด้วยสูตรหรือพระธรรมเทศนา ที่ประมวลข้อธรรมหรือเรื่องราวไว้เป็นพวก ๆ จำนวน 2,752 สูตร
4. อังคุดตรนิกาย ว่าด้วยสูตรหรือพระธรรมเทศนาที่จัดเป็นข้อ ๆ และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 1 ข้อ 2 ข้อ เป็นต้น จำนวน 7,902 สูตร
5. ขุททกนิกาย ว่าด้วย สูตรหรือพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ มี 15 เรื่อง หรือ 15 หัวข้อใหญ่ บางข้อจัดเป็นสูตร บางข้อก็มิได้จัดเป็นสูตร
 
เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก
 
จูฬกัมมวิภังคสูตร
          จูฬกัมมวิภังคสูตร เป็นพระสูตรหนึ่งในจำนวนสิบสูตรของวิภังควรรค ในมัชฌิมนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระสูตรนี้ว่าด้วยคนทำกรรมแล้วได้รับผลต่าง ๆ
ที่มาของพระสูตร พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สุภมานพ โตเทยบุตร ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี เพื่อทรงตอบปัญหาของสุภมานพ เรื่องเหตุที่ทำให้สัตว์มีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย เป็นต้น

          รูปแบบของพระสูตร รูปแบบของจูฬกัมมวิภังคสูตรเป็นการสนทนาแบบถาม-ตอบ มีอุปมาอุปไม ประกอบใจความสำคัญของพระสูตร สุภมานพ โตเทยบุตร ทูลถามถึงเหตุที่ทำให้สัตว์มีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคน้อย เป็นต้นและ กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมจึงจำแนกสัตว์ให้ เลวและดีต่างกันเมื่อมาณพกราบทูลให้อธิบาย จึงตรัสอธิบายเป็น 7 คู่ คือ

1. เหตุที่ทำให้อายุสั้น เพราะฆ่าสัตว์ เหตุที่ทำให้อายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์
2. เหตุที่ทำให้มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ เหตุที่ทำให้มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
3. เหตุที่ทำให้มีผิวพรรณทราม เพราะเป็นผู้มักโกรธ เหตุที่ทำให้ผิวพรรณผ่องใส เพราะเป็นผู้ไม่โกรธ
4. เหตุที่ทำให้มีอำนาจน้อย เพราะมีใจริษยา เหตุที่ทำให้มีอำนาจมาก เพราะมีใจไม่ริษยา
 
ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
 
ฌาน – ญาณ
          ฌาน (absorption) หมายถึง ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก เป็นภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่) แล้ว ฌานมีหลายชั้น ยิ่งเป็นชั้นสูงขึ้นไปเท่าใด องค์ธรรมต่าง ๆ ที่เป็นคุณสมบัติของจิต ก็ยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น ฌาน โดยทั่วไป แบ่งเป็น 2 ระดับใหญ่ ๆ และแบ่งย่อยออกไปอีกระดับละ 4 รวมเป็น 8 อย่าง เรียกว่า ฌาน 8 หรือสมาบัติ 8 คือ

1. รูปฌาน 4 ได้แก่
1.1 ปฐมฌาน (ฌานที่ 1) มีองค์ประกออบ 5 คือ วิตก(ความนึกคิด) วิจาร(การพิจารณาอารมณ์) ปิติ(ความอิ่มใจ) สุขและเอกัดคตา(ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว)
1.2 ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) มีองค์ประกอบ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
1.3 ตติยฌาน (ฌานที่ 3) มีองค์ประกอบ 2 สุข เอกัคคตา
1.4 จตุตถฌาน (ฌานที่ 4) มีองค์ประกอบ 2 คือ อุเบกขา (ความวางเฉย) และเอกัคคตา

2. อรูปฌาน 4 ได้แก่
2.1 อากาสนัญจายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดอากาศ (space) อันอนันต์
2.2 วิญญาณัญจายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดวิญญาณอนันต์
2.3 อากิญจัญญายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใด ๆ
2.4 เนวสัญญานาสัญญายตนะ หมายถึง ฌานที่เลิกกำหนดสิ่งใด ๆ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

         ญาณ (insight ,knowledge) หมายถึงความรู้ ความปรีชาหยั่งรู้ หรือความปรีชากำหนดรู้ แบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ
หมวดที่ 1 ญาณ 3 ประกอบด้วย

1. อติตังสญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อดีต รู้อดีตและสืบสาวหาเหตุปัจจัยอันต่อเนื่องในอดีตมาได้
2. อนาคตตังสญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อนาคต หรือรู้อนาคตและหยั่งผลที่จะเกิดสืบต่อไปได้ในอนาคต
3. ปัจจุบันนังสญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ปัจจุบัน หรือรู้ปัจจุบันและกำหนดถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของเรื่องที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หมวดที่ 2 ญาณ 3 ประกอบด้วย
1. สัจจญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้สัจจะ คือความหยั่งรู้ความจริงในอริยสัจ 4 เช่น นี่คือทุกข์ นี่คือทุกขสมุทัย เป็นต้น
2. กิจจญาณ หมายถึง ความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 เช่น ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัย ควรละเสีย เป็นต้น
3. กตญาณ หมายถึง ความหยั่งรู้อันได้ทำแล้ว คือ ความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างนั้นได้ทำเสร็จแล้ว
 
 
 
พุทธศาสนาสุภาษิต
 
กมฺมุนา วตฺตตี โลโก
สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม


          คำว่า กรรม ได้แก่ การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือ ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่นขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่า บ่อน้ำที่ตนขุด ๆไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตายก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มนุษย์มีความเชื่อถือกันว่า วีถีชีวิตของคนเราจะเป็นไปอย่างไรนั้น เทพเจ้าเท่านั้นจะเป็นผู้บันดาล แต่ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น พระองค์ทรงค้นพบว่า ชีวิตของคนจะเป็นอย่างไรนั้น คือ ดี เลว ประณีต ยากจน ร่ำรวย หรืออับเฉาทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลของกรรมที่ตนเองทำไว้ คนอื่นจะทำความดี ความชั่ว และรับผลของกรรมดีกรรมชั่วแทนกันไม่ได้ทางพระพุทธศาสนาถือกันว่ากรรมเป็นผู้ตกแต่งว่าจะให้ใครเป็นอย่างไร คือจะให้ดีหรือเลว มิใช่พระเจ้าหรือเทพเจ้าเป็นผู้แต่ง ที่ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมนั้น หมายความว่า คนเราจะเป็นอย่างไร แรงกรรมเท่านั้นเป็นผู้พาไป มิใช่มีใครคอยดลบันดาลให้ ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนควรประกอบกรรมดี คือกุศลกรรม หลีกเลี่ยงกรรมไม่ดี คือ อกุศลกรรมการประพฤติปฏิบัติดีย่อมส่งผลให้ผู้ประพฤติปฎิบัติได้รับผลแห่งกรรมดีนั้น ดังพุทธภาษิตว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
 ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


         หนังสือคติธรรมจากพุทะศาสนสุภาษิต เล่ม 1 ได้อธิบายพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ไว้ว่า พุทธศาสนาเป็นกรรมนิยามเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หว่านถั่วได้ถั่ว หว่านงาได้งา หว่านถั่วจะเกิดเป็นงาหรือหว่านงาจะเกิดเป็นถั่วไปไม่ได้แต่เนื่องจากคำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วมีคนเข้าใจผิดอยู่เป็นจำนวนมาก คือ เข้าใจกันแต่การทำดี แต่ไม่เข้าใจคำว่าได้ดี คำว่าได้ดีนี้ หมายเอาทั้งของดีและคุณงามความดี เช่นคนรับจ้างแบกของแล้วได้เงินค่าจ้าง เรียกว่าได้ของดี คนที่ทำงานโดยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คด ไม่โกง ย่อมได้รับคุณงามความดี คือ มีคนยกย่องสรรเสริญ เรียกว่าได้คุณความดีคนที่ให้ทาน รักษาศีล ผลทาน อานิสงส์ของศีล ย่อมส่งผลให้เขาไปสุคติได้ ส่วนคนทำชั่วจะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น คนที่เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ มีการลักขโมย เป็นต้น ย่อมจะมีอายุสั้น และจะถูกผู้อื่นเบียดเบียนข่มเหง ฉะนั้นพระพุทธองค์ จึงทรงเตือนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย
 การสั่งสมบุญนำสุขมาให้


            
คำว่า บุญ หมายถึง เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจาและใจ หรือ กุศลธรรม ส่วนคำว่า บุญกิริยาวัตถุ หมายถึง สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ได้แก่ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีลและภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนาการสั่งสมบุญ จึงหมายถึง การทำคุณงามความดีอันเป็นเครื่องชำระสันดาน การบำเพ็ญกุศล การประพฤติชอบทางกาย วาจาและใจ รวมตลอดถึงการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา การกระทำคุณงามความดีเหล่านี้แม้ทีละเล็กทีละน้อย ย่อมนำความสุขความเจริญมาให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ประดุจน้ำฝนซึ่งตกลงมาทีละหยาด ๆ ตกนาน ๆ เข้าย่อมยังภาชนะ คือ ตุ่ม ไห หรือถาด เป็นต้น ที่หงายตั้งเอาไว้กลางแจ้งให้เต็มได้ บุญกุศลคือความดีที่บุคคลสั่งสมไว้ก็เช่นเดียวกัน แม้ทำไว้ทีละน้อย ๆ บุญกุศลก็เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ และก่อให้เกิดความสุขใจว่า “บุญนี้อันเราทำไว้แล้ว และบุญนั้นเราก็ได้ทำไว้” ดังนี้บุคคลผู้หมั่นสร้างสมคุณงามความดี แม้ทีละเล็กทีละน้อย ย่อมมีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ มีผิวพรรณผ่องใส จิตใจสดชื่น สะอาด ปราศจากสิ่งรบกวนจิตใจ ไม่หงุดหงิดง่าย มีความทรงจำที่ดี จิตใจเป็นสมาธิเร็ว จะเรียน เขียน อ่าน หรือคิดการณ์ใด ๆ ย่อมสำเร็จตามที่มุ่งหมาย มีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่กับตัวอยู่ตลอดเวลา
ปูชโก ลภเต ปูชํ วนฺทโก ปฎิวนฺทนํ
ผู้บูชาเขาย่อมได้รับการบูชาตอบ ผู้ไหว้เขา ย่อมได้รับการไหว้ตอบ


             บูชา หมายถึง การให้ความนับถือ หรือการแสดงความเคารพเทิดทูน มี 2 ลักษณะ คือ อามิสบูชา ด้วยอามิส คือสิ่งของและปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยกาปฏิบัติตามจากหนังสือคติธรรมจากพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 ได้กล่าวถึงการบูชาย่อมได้รับบูชาไว้ว่าสิ่งซึ่งจะผูกมัดน้ำใจของคนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกันให้สนิทแนบแน่น ก็คือ ต่างฝ่ายต่างบูชานับถือกันตามฐานะธรรมดาบุตรธิดา ต้องบูชาบิดามารดาของตนในฐานะผู้ให้กำเนิดและอุปการะเลี้ยงดูตนมาบิดามารดาจึงจะปลาบปลื้มมองเห็นความเป็นบุตรธิดาที่เหมาะสมกับการที่จะเป็นผู้รับทรัพย์มรดกและมอบให้ซึ่งความไว้วางใจในฐานะทายาท ธรรมดาศิษย์ต้องเคารพเชื่อฟังอาจารย์ บูชาพระคุณของอาจารย์ไม่ลบลู่ดูหมิ่นอาจารย์ จึงจะได้รับเมตตาสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ ให้อย่างไม่ปิดบัง แม้มิตรบูชามิตร ด้วยวัตถุสิ่งของ เขาก็จะได้รับการบูชาตอบด้วยวัตถุสิ่งของเช่นเดียวกัน ฉะนั้น คนที่บูชากันด้วยน้ำใสใจจริง ย่อมได้รับผลการตอบแทนเกินคาดเสมอส่วนการไหว้เป็นการลงทุนน้อย และไม่ต้องใช้อามิส แต่มีผลมาก เวลาได้พบหน้ากัน สิ่งซึ่งแสดงถึงน้ำใจไมตรีหรือความมีสัมมาคารวะต่อกันก็คือ การไหว้ และการไหว้นี้ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีของคนในชาติ ผู้ที่ไหว้ถูกต้องตามลักษณะของการไหว้ เช่น ไหว้แบบเบญจางคประดิษฐ์ ย่อมได้รับความนิยมยกย่องว่าเป็นคนมีมรรยาท ไปในสังคมไหนย่อมได้รับการต้อนรับไม่เคอะเขิน มีแต่คนสรรเสริญเยินยอให้พรให้เจริญรุ่งเรือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น